หลังจากคราวที่แล้วที่ผมได้นำเสนอเรื่องราวของ ลมยางไนโตรเจน ดีกว่าแบบธรรมดา จริงหรือ ก็ปรากฎว่า มีเพื่อนๆให้ความสนใจกับมันเป็นจำนวนมาก แต่ก็อย่างที่ผมบอกไปครับว่า ถึงอย่างไร เราก็ยังคงต้องดูแลตรวจเช็คลูกรักของเราอยู่ดี วันนี้จัดไปครับ สาเหตุที่ทำให้ยางรถเสื่อม ไวกว่าปกติ พร้อมวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องครับ
สาเหตุที่ทำให้ยางรถเสื่อม ไวกว่าปกติ
1. เติมลมยางอ่อนหรือแข็งเกินไป เนื่องด้วยหากเพื่อนๆเติมลมยางอ่อนเกินไปนั้น จะทำให้อายุยางสั้นลง เนื่องจากบริเวณไหล่ยางจะเกิดความร้อนสูง จนอาจทำให้เนื้อยางไหม้ และโครงสร้างยางแยกตัวออกจากกัน นำไปสู่การบวมร่อนและยางระเบิด นอกจากนี้อาจทำให้โครงยางบริเวณแก้มยางฉีกขาดหรือหักได้ และยังเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันอีกด้วย
และถ้าหากเพื่อนๆเติมลมยางแข็งเกินไป ก็จะทำให้พื้นที่สัมผัสของหน้ายางกับพื้นถนนลดลง ส่งผลให้เกิดการลื่นไถลได้ง่าย และเมื่อได้รับแรงกระแทก หรือถูกของมีคม ก็อาจทำให้ยางระเบิดได้ง่ายอีกด้วย ที่สำคัญการเติมลมยางแข็งเกินไปก็จะส่งผลให้อายุยางลดน้อยลงได้เช่นกัน เนื่องจากดอกยางจะสึกบริเวณตอนกลางมากกว่าส่วนอื่นนั่นเองครับ
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องตรวจเช็ค และปรับความดันลมยาง ในขณะที่ยางยังไม่มีความร้อน หรือก่อนการใช้งาน ให้อยู่ในค่ามาตรฐาน เดือนละ 1 ครั้งครับ
2. ขับขี่บนถนนที่ขรุขระ และเส้นทางที่คดเคี้ยว เนื่องด้วยการที่ต้องขับขี่บนถนนที่มีความขรุขระและคดเคี้ยวนั้น ความต้านทานในการหมุนของหน้ายางกับพื้นถนนจะมีมากกว่า การขับขี่บนถนนเรียบๆ ดังนั้นด้วยการเสียดสีของหน้ายางที่มีมากกว่า จึงส่งผลให้ยางมีการสึกหรอไวกว่าครับ
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการขับขี่บนถนนที่มีสภาพ ขรุขระ มีหลุมบ่อ หากต้องขับขี่บนถนนดังกล่าวเป็นประจำจริงๆ ควรเลือกใช้ดอกยางให้ถูกประเภทและลดความเร็วในการขับขี่ลง
3. บรรทุกน้ำหนักมากเกินมาตรฐาน จะส่งผลให้มีการบิดตัวบริเวณหน้ายางที่สัมผัสพื้นผิวถนนมาก ทำให้ยางเกิดความร้อนได้ง่าย เป็นผลให้เกิดการสึกหรอ ของเนื้อยางอย่างรวดเร็ว
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ควรบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป หากเป็นการใช้งานเพื่อบรรทุกหนัก ควรเลือกใช้ยางที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อบรรทุกโดยเฉพาะ
4. การวิ่งด้วยความเร็วสูงเกินไป จะส่งผลให้มีแรงเสียดทานและความร้อนที่เกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก ทำให้อายุของยางลดลงได้เช่นกัน
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ควรขับขี่ด้วยความเร็วสูงมากเกินไป เพื่อช่วยลดค่าความร้อนของยาง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ยางสึกหรอเร็วกว่าปกติครับ
5. การเบรครถกระทันหัน และการออกตัวด้วยความเร็วสูง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ในขณะที่รถยนต์กำลังเคลื่อนที่อยู่นั้นจะมีแรงเฉื่อย ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าค่าความเร็ว ดังนั้นเมื่อเพื่อนๆทำการเบรคจนล้อหยุดหมุน แรงเฉื่อยจะดันตัวรถไป ส่งผลให้ล้อลื่นไถลไปกับถนน นั่นหมายถึงการสึกหรอของหน้ายางครับ ทั้งนี้จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วและระยะเบรคที่ใช้
ส่วนเรื่องของการออกตัวอย่างรุนแรง หรือล้อฟรีนั้น ส่งผลให้หน้ายางเสียดสีกับพื้นถนนอย่างหนักครับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการที่ทำให้ยางเสื่อมสภาพนั่นเอง
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ใช้ความเร็วในการขับขี่ที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการเบรกหยุดรถอย่างกระทันหันหรือการออกตัวอย่างรุนแรง
6. ช่วงล่างและระบบศูนย์ล้อที่ผิดไปจากสเปค ในข้อนี้จะมีผลต่อการสึกหรอของยางอย่างรวดเร็วเลยครับ เนื่องจากจะมีแรงเสียดทาน และอาการลื่นไถลที่ไม่สมดุลกันครับ
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดูแลรักษาศูนย์ล้อและระบบช่วงล่างอย่างสม่ำเสมอ
7. สภาพภูมิอากาศที่ร้อนเกินไป การจอดรถกลางแดดจ้า หรือ วิ่งด้วยความเร็วบนพื้นถนนที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ ก็มีผลต่อการสึกหรอเช่นกัน เนื่องจากยางรถยนต์ มีส่วนผสมหลักคือ ยางธรรมชาติ จึงมีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดีไม่เท่า ยางสังเคราะห์ครับ
วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการจอดรถยนต์ในที่แดดจ้าหากไม่จำเป็น ส่วนการวิ่งบนถนนที่มีอุณหภูมิสูงหลายๆคนคงบอกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรครับ ในข้อนี้ไม่มีผลมากมายนัก
ก็ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับ 7 สาเหตุที่ทำให้ยางรถเสื่อม รวมถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานยางรถยนต์ของเพื่อนๆ อย่าลืมทำการสลับยางและตรวจเช็คศูนย์ล้อ ในทุกๆระยะทาง 10,000 กม. หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถยนต์ ที่สำคัญการดูแลเอาใจใส่ และเลือกใช้ยางให้เหมาะสม คือ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามครับ
เพื่อนๆสามารถติดตามเรื่องราวดีๆเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
- ชี้ชัด!! ลมยางไนโตรเจน ดีกว่าแบบธรรมดา จริงหรือ
- ว่าด้วยเรื่อง ปะยาง มีกี่แบบ ปะแบบไหนดีกว่ากัน
- ทำอย่างไรเมื่อยางรั่ว แบน หรือโดนตะปูทิ่ม
- ข้อควรปฏิบัติ เมื่อยางระเบิด ขณะขับรถ
เพื่อนๆ สามารถติดตามข่าวสารการเปิดตัวรถยนต์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงสาระดีๆเกี่ยวกับการดูแลและขับขี่รถอย่างปลอดภัย การจัดแสดงรถยนต์อื่นๆ ได้ที่ Thaicarlover.com ครับ