ท่ามกลางกระแสวิกฤตธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ซึนามิที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยล่าสุด
ต่างเป็นเหตุบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงผลกระทบจากการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการด้านอุตสาหกรรมของโลก
แน่นอนทุกวิกฤตที่กล่าวมาทำให้เราต้องเริ่มใส่ใจในการใช้พลังงาน เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตน้ำมันแพง
แน่นอนทำให้ความรู้สึกอดทนกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของใครต่อหลายคนอาจสิ้นสุดลง ดังนั้นการสนใจที่จะไปใช้พลังงานทดแทนอย่างเช่น ก๊าซ LPG หรือ NGV ซึ่งก็คือการเอารถไป “ติดแก๊ส” อย่างที่หลายๆ คนเรียกนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะติดตั้งระบบก๊าซนั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม ศึกษา และทำความเข้าใจกันซะก่อน
วันนี้ทาง Thaicarlover.com จึงสรรหาความรู้เด็ดๆ มาฝากคนรักรถเกี่ยวกับเรื่อง คุ้มหรือไม่…ติดแก๊สรถยนต์ (ตอน 1) หลังจากที่ได้แนะนำความรู้เกี่ยวกับเรื่อง เรื่องต้องรู้… ก่อนริ “แต่งรถ”ตอนที่แล้ว
คุ้มหรือเสี่ยง กับการที่จะติดตั้งระบบก๊าซ?
จุดคุ้มทุนด้านค่าใช้จ่าย – ตัวรถเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความคุ้มในการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ รถรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ที่มีอายุไม่กี่ปี ส่วนใหญ่เครื่องยนต์จะมีสมรรถนะสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบนซิน หรือดีเซล ตัวเครื่องยนต์มักจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการทำงานอย่างเช่น ระบบจ่ายเชื้อเพลิง หรือระบบจุดระเบิดที่ทำงานอย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพสูง ใช้เชื้อเพลิงน้อย ปล่อยของเหลือที่เป็นพิษปะปนออกมากับไอเสีย น้อยเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว ดังนั้นรถรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิง หรือว่าการกินน้ำมันต่อกิโลเมตรค่อนข้างต่ำ ถ้าเป็นรถขนาดซับคอมแพค หรือเครื่องยนต์ที่มีขนาดไม่เกิน 1,500 ซี.ซี. อาจจะทำระยะทางได้เกิน 15 กิโลเมตร จากการใช้น้ำมันแต่ละลิตร ถ้าลองเอาราคาน้ำมันต่อลิตรมาตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนกิโลเมตรที่วิ่งได้…น้ำมันราคาลิตรละ 30 บาท หารด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายก็จะตกอยู่ที่ประมาณ กิโลเมตรละ 2 บาท
ถ้ารถของท่าน “กินน้ำมัน” แค่นี้ แล้วไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ก็อยู่เฉย ๆ น่าจะดีกว่า เก็บเงินสองสาม หมื่นเอาไว้ เติมน้ำมันไปได้อีก 10,000-15,000 กิโลเมตร สภาพตัวรถก็ยังคงเดิม ๆ ดูดีกว่าใส่ถังก๊าซ ชุดจ่ายเชื้อเพลิงหม้อต้ม เข้าไปพะรุงพะรัง ในห้องเครื่อง แถมยังหนักรถเพิ่มขึ้นมาอีก จริงอยู่ที่รถขนาดนี้ถ้าเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแล้วจะมีค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรถูกลงมา อาจจะเหลือเพียงประมาณ 1 บาทต่อกิโล นั่นหมายความว่าคุณก็จะต้องจ่ายค่าก๊าซในระยะทาง 15,000 กิโลเมตร อีก 15,000 บาท บวกค่าติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซอีกประมาณ 30,000 บาท รวมเป็น 45,000 บาท เอาเงิน 45,000 ไปเติมน้ำมันวิ่งไปได้กี่ปี่ หรือกี่เดือน ก็ลองหารออกมาดู เฉลี่ยแล้วคุณต้องจ่ายค่าน้ำมันเดือนละ หรือปีละกี่บาท ในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดว่าใน 1 ปี คุณใช้รถไม่เกิน 5,000 กิโลเมตร อย่างนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เมินเสียเถอะกับชุดติดตั้งก๊าซราคา 30,000 บาท ใช้น้ำมันอย่างเดียวสบายใจกว่าเยอะ
แต่ถ้าปีหนึ่งใช้รถเกิน 10,000 กิโลเมตร ก็เป็นเรื่องน่าคิด สมมุติว่าในหนึ่งปีใช้รถ 15,000 กิโลเมตร เสียค่าน้ำมันรถ 20,000-30,000 บาท เทียบบัญญัติไตรยางศ์ไปเรื่อย ๆ 2 ปี ก็ 60,000 บาท 3 ปี ก็ 90,000 บาท การลงทุนติดตั้งชุดก๊าซไปปีแรก 30,000 บาท จ่ายค่าก๊าซปีละ 15,000 2 ปีเป็น 30,000 3 ปีเป็น 45,000 บาท 4 ปีเป็นค่าก๊าซ 60,000 บาท รวมกับค่าลงทุนติดตั้งก๊าซในครั้งแรกอีก 30,000 จะเท่ากับ 90,000 บาท ซึ่งเท่ากับเติมน้ำมันอย่างเดียวในปีที่ 3 นี่แสดงว่าจุดคุ้มทุนในการติดตั้งระบบก๊าซจะต้องใช้เวลาในการใช้รถปีละ 15,000 กิโลเมตร ถึง 3 ปี โดยใช้สมมติฐานว่าราคาก๊าซ และน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 10 และ 30 บาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี แต่ถ้าคุณใช้รถเกินกว่าปีละ 30,000 กิโลเมตร จุดคุ้มทุนในการติดตั้งก๊าซอาจจะลดลงมาต่ำกว่า 2 ปี
หรือลองเปรียบเทียบจากตารางข้างล่างนี้ได้ ซึ่งจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เมื่อนำมาเทียบกันระหว่างการติดตั้งก๊าซกับเติมน้ำมันเบนซินอย่างเดียว อย่างไหนจะคุ้มกว่ากันแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะติดตั้งระบบก๊าซหรือไม่
นี่เป็นเพียงยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำมันกับการติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจี (LPG) ถ้าเป็นการติดตั้งระบบ ก๊าซซีเอ็นจี (CNG) หรือเอ็นจีวี (NGV) ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะเปลี่ยนเป็น 50,000-60,000 บาท แต่จะเสียค่าเชื้อเพลิงน้อยลง ประมาณกิโลเมตรละ 50 สตางค์
พบกันใหม่กับเทคนิคดีๆ กับการดูแลรักษารถยนต์ สำหรับคนรักรถ จาก Thaicarlover.com ได้ใหม่สวัสดีครับ