กลับมาอีกครั้งกับข่าวสารวงการยานยนต์ วันนี้ทาง Thaicarlover.com มีข่าวจากค่ายรถยนต์ Nissan มาฝากเพื่อนๆ กันครับ โดยล่าสุด…
นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น (Nissan Motor Japan) เปิดตัว Cell Stack หรือเซลล์เชื้อเพลิง เจนเนอเรชั่นใหม่โมเดล 2011 สำหรับรถยนต์ฟิวเซลล์ FCEV – Fuel Cell Electric Vehicles ซึ่งนิสสัน ระบุว่า Cell Stack รุ่นใหม่จะให้ค่าความจุกำลัง (Power density) มากขึ้นกว่าโมเดลเดิมในปี 2005 ถึง 2.5 เท่า การพัฒนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสร้างสังคมปลอดก๊าซเรือนกระจก หรือ Zero Emission society ของทาง นิสสัน เอง
หลักการทำงานคร่าวๆ ของ Fuel Cell โดยทั่วไปคือ แต่ละเซลล์จะประกอบไปด้วยขั้ว Anode (ลบ) ทำหน้าที่ส่งอิเลคตรอนออกจากขั้ว, ขั้ว Cathode (บวก) ทำหน้าที่รับโปรตอน และออกซิเจน ทั้งคู่ถูกคั่นด้วยเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอนบางๆ (Proton exchange membrane) มีผงแพลทินัมเคลือบเอาไว้เป็นตัวเร่งปฏิกริยา (Catalyst) โดยอะตอมของออกซิเจนที่แตกตัวจากฝีมือของตัวเร่งปฏิกิริยานี้ จะเกิดเป็นโมเลกุลของน้ำ ส่วนการไหลของอิเลคตรอนจะทำให้เกิดไฟฟ้ากระแสตรง
แต่ละชั้นเซลล์จะต้องมีช่องว่างให้ไฮโดรเจน, อากาศ และน้ำเดินทางผ่าน และแต่ละเซลล์ข้างต้นนี้สามารถสร้างกระแสไฟได้เต็มที่ 1 โวลท์ นั่นหมายถึงเราต้องการชั้นเซลล์เป็นจำนวนมาก ถึงจะสามารถผลิตกำลังได้มากพอที่จะขับเคลื่อนรถยนต์ 1 คัน
ตามข้อมูล นิสสัน ทำการปรับปรุง MEA – Membrane Electrode Assembly ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี เพื่อกำเนิดพลังงานไฟฟ้า (และน้ำ) ให้ทำงานได้ดีขึ้น โดย Cell Stack รุ่นใหม่นี้มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน คือค่าความจุกำลัง 2.5 กิโลวัตต์/ลิตร เมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นๆ (ยกตัวอย่าง Hyundai Blue2 มีขนาด 1.65 กิโลวัตต์/ลิตร)
ในภาพที่เห็น Cell Stack แพคเกจนี้มีความจุ 34 ลิตร (หน่วยลิตรคือ ความจุเซลล์สำหรับกำเนิดไฟฟ้า ไม่ใช่ความจุเชื้อเพลิง) เท่ากับว่า Cell Stack นี้จะให้กำลังถึง 85 กิโลวัตต์ (หน่วยกำลังไม่มีชั่วโมงต่อท้ายแบบแบตเตอรี่) ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า นิสสัน จะสร้างถังจุไฮโดรเจนป้อนไปเท่าไหร่ แล้วค่อยว่ากันถึงสมรรถนะ และอัตราสิ้นเปลืองอีกที แต่ถ้าว่ากันตามทฤษฎี Fuel Cell สามารถรับไฮโดรเจน และออกซิเจน มาทำปฏิกริยาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด ดังนั้นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญคือขนาดความจุของถังไฮโดรเจนนั่นเอง
นอกจากนี้ นิสสัน ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับการปรับปรุงการทำงานของ MEA โดยเฉพาะ ด้วยการสร้างฉนวนพลาสติกป้องกันในแต่ละเซลล์ ช่วยให้ นิสสัน สามารถลดขนาดของ Cell Stack ลงไปได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นปกติ หรือหากเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่น 2005 ของ นิสสัน เอง จะสามารถลดการใช้วัสดุต่างๆ ยกตัวอย่างแพลทินัม ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของ MEA ลงไปได้ 1 ใน 4 รวมทั้งลดต้นทุนรวมลงไปได้ราว 1 ใน 6
ณ เวลานี้ความพยายามในการพัฒนา Fuel Cell จากค่ายรถยนต์ประเทศญี่ปุ่น ยังคงอยู่ที่ 3 บริษัทหลักยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota (Toyota FCHV adv), Honda (Honda FCX Clarity) และ Nissan ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก 10 บริษัทพลังงาน รวมทั้งรัฐบาล ที่พร้อมใจกันเตรียมการจัดหาสาธารณูปโภคไว้รองรับการเปิดตัวรถยนต์ FCEV ภายในปี 2015 ด้วย
ที่สำคัญ เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของรถยนต์ปลอดมลพิษเท่านั้น เทคโนโลยีลดมลพิษในส่วนอื่นๆ แต่ละบริษัทก็ยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับ นิสสัน ที่เด่นที่สุดก็ยังเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนอย่าง Nissan Leaf รวมทั้งแผนงานระยะยาวล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาอย่าง Nissan Green Program 2016
มร. มาซานาริ ยานางิซาวะ แห่งแผนก Fuel Cell R&D ผู้ใช้เวลาพัฒนา Cell Stack มากว่า 10 ปี กล่าวว่า “เราไม่เคยท้อใจ เราไม่เคยยอมแพ้ เราเพียรพยายามทำงานด้วยความอดทน เราเชื่อว่าผลลัพทธ์ที่ออกมาจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของเรา”
โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอลงไปทุกวัน บ้านเราควรจะขยับตัวกันบ้าง…สักนิดก็ยังดีครับ ไม่ได้ผลิตอะไรเองก็มองหาลู่ทางเตรียมสาธารณูปโภคเอาไว้รองรับ
สุดท้ายนี้เว็บ Thaicarlover.com อยากให้เพื่อนๆ ช่วยเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประสบปัญหาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หรือกำลังเตรียมการรับมือกับน้ำท่วม และน้ำท่วมรถ ด้วยครับ และถ้าเพื่อนๆ สามารถช่วยเหลือสิ่งใดได้ก็ขอให้ช่วยเหลือตามกำลังความสามารถครับ
สำหรับแฟนๆ Nissan ในบ้านเราอาจจะต้องรอลุ้นว่าจะมีอะไรเด็ดๆ มาโชว์ที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โปร 2011 (Motor Expo 2011) ในปลายปีนี้ หรืองานมอเตอร์โชว์ 2012 (Motor Show 2012) ในต้นปีหน้าหรือไม่ ซึ่งอันนี้แฟนๆ นิสสัน ต้องติดตามกันต่อไปครับ
อย่าพลาดติดตามข่าวสารการเปิดตัวรถใหม่ รวมถึงความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์ทั้งไทย และต่างประเทศได้ใหม่กับ Thaicarlover.com ได้ใหม่ครับ