หลังจากที่ Thaicarlover.com ได้แนะนำผู้อ่านถึงเรื่อง ใบปัดน้ำฝน.. เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม (ตอนที่ 1) วันนี้เราจะมาแนะนำกันต่อกับหัวข้อเรื่อง ใบปัดน้ำฝน.. เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม (ตอนที่ 2)
การเลือกชนิดของใบปัดน้ำฝนให้เหมาะสมกับรถยนต์เป็นสิ่งที่ถือว่าสำคัญไม่น้อย โดยใน “ตอนที่ 2 ของ ใบปัดน้ำฝน… เรื่องเล็กๆ ที่คุณไม่รู้” นี้ เราจะมาแนะนำกันต่อกับอีก 2 ชนิดที่เหลือของใบปัดน้ำฝน รวมถึงข้อควรระวังในการเลือกใบปัดน้ำฝน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อใบปัดน้ำฝน สำหรับรถใหม่ รถป้ายแดง หรือรถยนต์มือสองคันเก่งของคุณครับ
ชนิดของใบปัดน้ำฝน
ใบปัดน้ำฝนแบบซ่อนแขนใบปัดน้ำฝน (Semi Concealed Wiper Blade) ใบปัดน้ำฝนแบบที่ 2 นี้ จะมีโครงสร้างเหมือนกับแบบแรก แต่ผู้ผลิตออกแบบที่ครอบเพิ่มขึ้นมา เพื่อนำมาครอบแขนใบปัดน้ำฝนไว้ แต่ก็จะยังคงเห็นเนื้อยางของใบปัดน้ำฝนอยู่ จุดประสงค์ก็เพื่อความสวยงามเท่านั้นเอง ซึ่งจะเห็นได้ตามรถบางรุ่นเช่น รถยุโรป รถโตโยต้าแคมรี่ หรือฮอนด้าแจ๊ส เป็นต้น
ส่วนอีกชนิดจะเป็น ใบปัดน้ำฝนแบบไร้โครงเหล็ก (Flat Blade) ซึ่งท่านจะไม่สามารถสังเกตเห็นแขนของใบปัดน้ำฝน และตัวยางปัดน้ำฝนเลย เนื่องจากมันไม่มีโครงเหล็ก แต่จะมีแกนเหล็กทดแทน ซึ่งจะฝังไว้ในเนื้อยาง
ใบปัดน้ำฝนแบบไร้โครงเหล็กนี้ จะมีคุณสมบัติในการใช้งานดี เนื่องจากน้ำหนักของใบปัดจะถูกกระจายไปเท่า ๆ กัน ทั้งแขนใบปัด อีกทั้งยังมีดีไซน์ที่ให้ความสปอร์ตอีกด้วย
ข้อควรระวังในการเลือกใบปัดน้ำฝน
1. การเลือกใบปัดน้ำฝน ควรสังเกตรุ่นรถยนต์ของท่านจากข้างบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิตใบปัดน้ำฝน ผู้ผลิตหลายรายป้อนอะไหล่ใบปัดน้ำฝนให้กับทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ และจำหน่ายในท้องตลาด
2. การเลือกซื้อใบปัดน้ำฝน ไม่ควรเลือกซื้อใบปัดน้ำฝนที่เก่า เพราะยางบนใบปัดน้ำฝนนั้นมีอายุการใช้งาน บางครั้งผู้จำหน่ายไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมดภายในหน้าฝนปีก่อน ก็จะนำออกมาจำหน่ายในปีถัดไป เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้รถมักจะเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนในช่วงหน้าฝนเท่านั้น
นอกจากนี้ ให้สังเกตว่ารถรุ่นใหม่ ๆ ทุกวันนี้ก้านใบปัดน้ำฝนทางฝั่งคนขับ และคนนั่งจะมีขนาดที่ไม่เท่ากัน เช่น โตโยต้าวีออส เป็นต้น โดยมีขนาดใบปัดน้ำฝนอยู่ประมาณ 14” และ 21” ดังนั้นเวลาท่านซื้ออาจจะเลือกแบบแพ๊คสำเร็จสำหรับรุ่นนั้น ๆเลย หรือหากแยกซื้อเป็นกล่อง ๆ ก็ต้องระวังเรื่องนี้ไว้ด้วย
3. การติดใบปัดน้ำฝน หากบนใบปัดน้ำฝนมีการะบุภาษาอังกฤษตัวย่อบนใบปัดเช่น อักษร “D” ย่อมาจาก “Driver” ให้ผู้ใช้รถทุกท่านเข้าใจว่าใบปัดใบนั้นให้ติดตั้งฝั่งคนขับ ส่วนอักษร “P” ย่อมาจาก “Passenger” ก็คือฝั่งคนนั่งนั่นเอง
พบกันใหม่กับเทคนิคดีๆ กับการดูแลรักษารถยนต์ สำหรับคนรักรถ จาก Thaicarlover.com ได้ใหม่สวัสดีครับ